🚢เรือกอและ อัตลักษณ์พื้นที่ วิถีชาวเล มุสลิมเก้าเส้ง สงขลา 🚤
ประวัติเรือกอและ
วิถีชีวิตผู้คนริมฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส
ปัตตานีจนถึงจังหวัดสงขลานั้นผูกพันกับอาชีพประมงชายฝั่งมาเนิ่นนานนับชั่วอายุคน
เรือหาปลาที่เรียกว่า เรือกอและ
คือพาหนะกู้ชีพที่ผู้คนแถบนี้ที่ใช้ออกหาปลาในท้องทะเล โดยมีภูมิปัญญาความรู้ในเรื่องของการต่อเรือชนิดนี้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ปัจจุบัน เรือกอและที่มีลักษณะเด่นคือ มีลวดลายสวยงาม
มีหัวและท้ายยกขึ้นสง่างามนับวันก็หายากขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีเรือแบบใหม่ที่คนทั่วไปยังเข้าใจว่าเป็นเรือกอและเข้ามาแทนที่
ซึ่งพัฒนามาจากการต่อเรือกอและ โดยที่ผู้คนในชุมชนเก้าเส้ง เรียกว่า “เรือท้ายตัด”
จากรูปแบบอาจจะต่างไปจากเรือกอและดั้งเดิมบ้าง
แต่ลวดลายศิลปะต่างๆที่นายช่างท้องถิ่นยังพิถีพิถันให้ความสำคัญกับงานศิลป์บนลำเรือของเขา
ก็ไม่เคยจางหายไปจากสายเลือด
ทุกวันนี้เรือท้ายตัดจึงเป็นตัวแทนของเรือกอและรุ่นปัจจุบันที่ยังเหลืออยู่และใช้กันทั่วไป
ในจังหวัดสงขลายังหาดูงานศิลป์ลอยน้ำเหล่านี้ได้ที่ หมู่บ้านเก้าเส้ง
อำเภอใกล้เคียงหาดชลาทัศน์
จากกอและสู่ท้ายตัด
ที่มา : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขยสงขลา
การเปลี่ยนแปลงเรือประมงพื้นบ้านที่มีแบบอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นทั้งรูปแบบและลวดลายสีสันฉูดฉาดสวยงาม รูปทรงแปลกตาไปจากเรือประมงชนิดอื่น
ทั้งขนาดจอดเทียบท่าอยู่นิ่งๆ หรือ
วิ่งทะยานตัดเกลียวคลื่นกลางทะเลของชาวประมงภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย
เรือกอและดั้งเดิมจริงๆ
หัวกับท้ายเรือต้องเหมือนกัน แต่ปัจจุบันเมื่อพัฒนามาเป็นแบบเรือท้ายตัด เขาจะตกแต่งเฉพาะหัวเรือ
ส่วนตอนท้ายเรือจะตัดให้ป้าน
เพื่อเปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องยนต์วางที่ท้ายเรือแทนการประดับตกแต่งลวดลาย
เขาตกแต่งเฉพาะส่วนหัวเรือ เนื่องด้วยกาลเวลาเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตและเป็นการอำนวยความสะดวก
รวดเร็ว คล่องตัวให้กับการบังคับเรือขณะออกทำการประมงบริเวณชายฝั่งให้กับมนุษย์ด้วย
ส่วนใหญ่มีแต่เรือท้ายตัดที่เห็นกันอยู่ทั่วไป
เนื่องด้วยในอดีตชาวบ้านสงขลาดั้งเดิมได้ดัดแปลงเรือกอและมาเป็นเรือท้ายตัด
เป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยแต่ยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้จนแทบแยกแยะกันไม่ออก
โดยที่ใครผ่านไปมาก็เปล่งเสียงออกไปว่านั่นเรือกอและ แต่จริงๆแล้วมันคือ “เรือท้ายตัด ” นั่นเอง
ลวดลายเรือกอและ เก้าเส้งสงขลา
ลวดลายจิตกรรมบนเรือกอและเป็นวัฒนธรรมทางศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวไทยภาคใต้ตอนล่าง
ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ทะเล ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา
ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพประมงเป็นหลัก เรือกอและจึงเป็นพาหนะทางน้ำที่เป็นของคู่กับชาวประมงในแถบนี้มาช้านานนับแต่โบราณ
นอกจากใช้ออกทะเลหาปลาแล้ว เรือกอและยังมีหน้าที่แห่งความบันเทิง
โดยใช้ในประเพณีการแข่งเรือกอและ
แข่งขันประกวดประชันทั้งความงามและความเร็วของฝีพายอีกทั้งยังเป็นเรือที่สามารถนำเที่ยวได้อีกด้วย
ความสง่างามของเรือกอและอยู่ที่การตกแต่งลวดลาย
เรือกอและมีความแตกต่างจากเรือประเภทอื่นๆโดยสิ้นเชิง
โดยเฉพาะในด้านการตกแต่งลวดลายจิตกรรมบนเรือ เรือกอและ
ถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะที่ทรงคุณค่าชิ้นหนึ่งที่มีสีสันฉูดฉาดสะดุดตา
เพิ่มความสวยงามและเอกลักษณ์ให้กับเรือกอและ
ความเชื่อของคนเก้าเส้งที่ผูกพันกับเรือกอและ
เรือกอและนั้นไม่ได้เป็นเรือประมงธรรมดาทั่วไป
แต่เป็นเรือที่มีความโดดเด่นในภายใต้ความสวยงามของลวดลาย
ความเป็นอัตลักษณ์ในด้านวัฒนธรรมของชุมชนชาวมุสลิม เก้าเส้ง
และเรือกอและยังแฝงไปด้วยความเชื่อที่มากมาย ดังต่อนี้
1. ความเชื่อในเรื่องของการกราบไหว้แม่ย่านางเรือ
ความเชื่อในเรื่องของการกราบไหว้แม่ย่านางเรือ
เป็นความเชื่อของชาวประมงทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้วชาวประมงเชื่อว่าเรือประมงทุกลำ
มีแม่ย่านางเรือประทับอยู่
เมื่อชาวประมงจะออกเรือเพื่อจับปลาทุกครั้งจะทำการเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เพื่อให้มีสวัสดิ์มงคลต่อการประกอบอาชีพ
และเพื่อให้แม่ย่านางเรือปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดอันตราย
ชาวปะมงจะมีการบูชาแม่ย่านางเรือโดยการนำผ้าสีมาผูกตรงบริเวณหัวเรือซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากเรือกอและที่จอดอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลเก้าเส้ง
สงขลา ชาวประมงเก้าเส้งถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นชาวไทยมุสลิม
แต่พวกเขาก็มีความเชื่อในด้านนี้
เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมาอย่างหนักแน่นตั้งแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
2. ความเชื่อในเรื่องของการเก็บหัวเรือกอและไว้ภายในบ้าน
ความเชื่อในเรื่องของการเก็บหัวเรือกอและไว้ภายในบ้าน
เป็นความเชื่อของชาวมุสลิมเก้าเส้ง
ส่วนใหญ่หัวเรือนั้นมาจากลำเรือกอและที่เสียหายจนถึงขั้นที่ไม่สามารถซ่อมได้
พวกเขาเชื่อว่าถ้าหากเก็บหัวเรือกอและไว้ภายในบ้านจะเป็นการเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับอาชีพประมงของเขา
แต่ปัจจุบันการเก็บหัวเรือกอและไว้ภายในบ้านนั้นมีน้อยมาก
เช่นเดียวกับเรือกอและที่เก้าเส้งสงขลา
ซึ่งเริ่มห่างหายไปจนกระทั่งเหลือเพียงไม่กี่ลำเท่านั้นที่ให้เราได้ชื่นชมกันในทุกวันนี้
3. ความเชื่อในเรื่องของการปฏิบัติเมื่อขึ้นเรือกอและ
ความเชื่อในเรื่องของการปฏิบัติเมื่อขึ้นเรือกอและ เป็นความเชื่อที่ชาวประมงเก้าเส้งสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน
ซึ่งคนนอกพื้นที่หรือคนที่ไม่ใช่เจ้าของเรือกอและ
ก็ไม่สามารถขึ้นเรือสุ่มสี่สุ่มห้าได้ ถ้าหากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อน
เพราะชาวประมงเชื่อว่าเรือกอและนั้นมีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ย่านางเรือ
ถ้าหากขึ้นเรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเรือกอและ อาจส่งผลให้ป่วยได้
และชาวประมงเก้าเส้งนั้นยังห้ามการใส่รองเท้าขึ้นเรือ
เพราะถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งใส่รองเท้าขึ้นเรือกอและนั้นไม่ว่าจะเป็นเรือลำไหนก็ตาม
พวกเขาเชื่อว่าเรือลำนั้นจะทำมาหากินไม่ได้อีกเลย
เช่นเดียวกับการห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนขึ้นเรือกอและ
เพราะจะส่งผลให้เรือลำนั้นหากินไม่ได้หรือสร้างรายได้ไม่ค่อยดีเช่นกัน
ความเชื่อดังกล่าวนี้
สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์และความผูกพันของคนในชุมชนเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา
ที่มีต่อเรือกอและมาอย่างยาวนาน และความเชื่อเหล่านี้
ก็ยังหนักแน่นและฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนในพื้นที่ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะของเรือกอและ
เก้าเส้ง สงขลา
เรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้ตามชายฝั่งทะเลของแหลมมาลายู
ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายแบบตามรูปร่างของการวางกระดูกงู (โครงเรือ) และลักษณะของเรือ และท้ายเรือ
แต่โดยทั่วไปลำเรือจะต้องแข็งแรงและค่อนข้างกว้าง พอที่จะผจญภัยกับลมพายุได้บ่อยๆ
และทนต่อคลื่นซัดสาดชายฝั่งอย่างรุนแรงและการทาสีเรือกอและเป็นที่สังเกตอย่างหนึ่ง
ซึ่งบอกที่มาของเรือประมง จะเห็นได้ตามชายฝั่งทะเล ซึ่งการทาสีเรือของชาวประมงที่เก้าเส้ง
สงขลา มักจะทาสีฉูดฉาด เช่น สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดงตามใจชอบ
และมีการเขียนลวดลายอย่างสวยงาม
หมายเหตุ : ❗❗ ชาวประมงในหมู่บ้านเก้าเส้งได้เปลี่ยนสถานที่จอดเรือกอและกะทันหัน เนื่องด้วยลมมรสุมเข้าโดยนำเรือกอและไปจอดไว้ที่
ชายหาดบ่ออิฐ ซึ่งชายทะเลบ่ออิฐมีหินที่สามารถเป็นที่กำบังคลื่นได้